สหกรณ์มีกี่ประเภท?
7. ประเภท ได้แก่
สหกรณ์ภาคการเกษตร
1. สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ที่จัดตั้งขึ้นในหมู่ ผู้มีอาชีพทางการเกษตร รวมกันจัด ตั้งขึ้น และจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลต่อนายทะเบียนสหกรณ์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สมาชิกดำเนินกิจการร่วมกันและช่วยเหลือซึ่งกันและ กัน เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนในการประกอบอาชีพของสมาชิก และช่วยยกฐานะความเป็นอยู่ของสมาชิกให้ดีขึ้น ความเป็นมา สหกรณ์การเกษตรแห่งแรกได้จัดตั้งขึ้นในปี พงศ. 2459 ชื่อว่า สหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้ ในจังหวัดพิษณุโลก เป็นสหกรณ์ การเกษตรชนิดไม่จำกัด มีขนาดเล็กในระดับหมู่บ้านตั้งขึ้นในหมู่เกษตรกรที่มี รายได้ต่ำและมีหนี้สินมากมีสมาชิกแรกตั้ง จำนวน 16 คน ทุนดำเนินงาน จำนวน 3,080 บาท เป็นค่าธรรมเนียมแรกเข้า จำนวน 80 บาท และเป็นทุนจากการกู้แบงก์สยามกัมมาจล (ธนาคารไทยพาณิชย์ในปัจจุบัน) จำนวน 3,000 บาท
2. สหกรณ์ประมง สหกรณ์ที่จัดตั้งขึ้นในหมู่ชาวประมง เพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการประกอบอาชีพ ซึ่งชาวประมงแต่ละคนไม่สามารถแก้ไขให้ลุล่วงไปได้ตามลำพัง บุคคลเหล่านี้จึงรวมกันโดยยึดหลักการช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ความเป็นมา สหกรณ์ประมงแห่งแรกได้จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2492 ชื่อว่าสหกรณ์ประมงพิษณุโลกจำกัด ในท้องที่ลำคลองกระบังโป่งนก อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก เป็นสหกรณ์ประมงประเภทน้ำจืด มีสมาชิกแรกตั้ง จำนวน 54 คนดำเนินการจัดสรรที่ทำกิน การจำหน่าย การแปรรูป และขออนุญาตสัมปทานให้สมาชิกจับสัตว์น้ำได้โดยสะดวก
3. สหกรณ์นิคม สหกรณ์การเกษตรในรูปแบบหนึ่ง ที่มีการดำเนินการจัดสรรที่ดินทำกินให้ราษฎร การจัดสร้างปัจจัยพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่อยู่อาศัยควบคู่ไปกับการดำเนินการจัดหาสินเชื่อ ปัจจัยการผลิตและสิ่งของที่จำเป็น การแปรรูปการเกษตร การส่งเสริมอาชีพ รวมทั้งกิจการให้บริการสาธารณูปโภคแก่สมาชิก
4. สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์ที่มีผู้บริโภครวมกันจัดตั้งขึ้นเพื่อจัดหาสินค้า เครื่องอุปโภคบริโภคมาจำหน่ายแก่สมาชิกและบุคคลทั่วไป โดยจดทะเบียนตามกฎหมายสหกรณ์ในประเภท สหกรณ์ร้านค้า มีสภาพเป็นนิติบุคคลซึ่งสมาชิกผู้ถือหุ้นทุกคนเป็นเจ้าของ สมาชิกลงทุนร่วมกันในสหกรณ์ด้วยความสมัครใจเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนในการซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคและเพื่อผดุงฐานะทางเศรษฐกิจของตนและหมู่คณะ ความเป็นมา สหกรณ์ร้านค้า จัดตั้งขึ้นโดยชาวชนบท อำเภอเสนา จังหวัด พระนครศรีอยุธยา ในปีพ.ศ.2480 และได้เลิกล้มไป ต่อมารัฐบาลได้ช่วยเหรือ มีนโยบายที่จะช่วยเหลือด้านการครองชีพให้กับประชาชน โดยการส่งเสริม และสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสหกรณ์ร้านค้าขึ้น ทั้งในส่วนกลางและส่วน ภูมิภาคทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งสหกรณ์ร้านค้าที่ตั้งขึ้นในเมืองที่ประชาชน หนาแน่นจะประสบความสำเร็จมากกว่าสหกรณ์ร้านค้าที่ตั้งในชนบท
สหกรณ์นอกภาคการเกษตร
5. สหกรณ์ออมทรัพย์ สถาบันการเงินแบบหนึ่งที่มีสมาชิกเป็นบุคคลซึ่งมีอาชีพอย่างเดียวกันหรือที่อาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกัน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกรู้จักการออมทรัพย์ และให้กู้ยืมเมื่อเกิดความจำเป็นหรือเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์งอกเงยและได้รับการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ สามารถกู้ยืมเงินได้เมื่อเกิดความจำเป็นตาม หลักการช่วยตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ความเป็นมา สหกรณ์ออมทรัพย์แห่งแรกในประเทศไทย จัดตั้งขึ้นในหมู่ข้าราชการสหกรณ์และพนักงานธนาคารเพื่อการสหกรณ์ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2492 คือ สหกรณ์ข้าราชการสหกรณ์ จำกัดสินใช้ และได้แพร่ หลายไปในหน่วยงานของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ ส่วนสหกรณ์ ออมทรัพย์ในชุมชนแห่งแรก คือ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแม่มูล จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2522
6. สหกรณ์บริการ สหกรณ์ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ โดยมีประชาชนไม่น้อยกว่า 10 คน ที่มีอาชีพอย่างเดียวกัน ได้รับ ความเดือดร้อนในเรื่องเดียวกันรวมตัวกันโดย ยึดหลักการประหยัด การช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อแก้ ปัญหาต่างๆ รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงในอาชีพต่อไป
7. สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน สหกรณ์อเนกประสงค์ ตั้งขึ้นโดยความสมัครใจของสมาชิกที่อยู่ในวงสัมพันธ์เดียวกัน เช่น อาศัยในชุมชนเดียวกัน ประกอบอาชีพเดียวกัน หรือในสถานที่เดียวกัน หรือมีกิจกรรมร่วมกันเพื่อการรู้จักช่วยเหลือตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นให้สมาชิกประหยัดและออม เพื่อการรู้จักช่วยตนเองเป็นเบื้องต้นและเป็นพื้นฐานในการสร้างความมั่นคงแก่ตนเองและครอบครัว
จะจัดตั้งสหกรณ์จะติดต่อที่ไหน?
ติดต่อที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดที่ท่านอยู่หรือที่จะตั้งสหกรณ์นั้นๆ
ทำไมต้องมีการจัดตั้งสหกรณ์?
1. สหกรณ์เป็นที่รวมของผู้มีปัญหาคล้ายๆ กัน คนที่รู้ปัญหาดี คือ ตัวผู้มีปัญหานั่นเอง ฉะนั้น การแก้ปัญหาได้ดีที่สุดก็คือการรวมคนที่มีปัญหานั้นมาช่วยกันแก้ไข
2. สหกรณ์เป็นองค์การที่มีกฎหมายรองรับ เป็นนิติบุคคลที่ถาวร เป็นอิสระ มีส่วนราชการเข้าไปช่วยเหลือสนับสนุนตามความจำเป็น
3. สหกรณ์มีวิธีการแบ่งผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นโดยธรรม เป็นแบบของสหกรณ์โดยเฉพาะ มีลักษณะที่สมาชิกเป็นเจ้าของ และผู้ใช้บริการในขณะเดียวกัน
ในการยื่นเอกสารขอจดทะเบียนสหกรณ์คณะผู้จัดตั้งสหกรณ์ต้องดำเนินการยื่นเอกสารขอจดทะเบียนสหกรณ์ ประกอบด้วยอะไรบ้าง ?
1. คำขอจดทะเบียนสหกรณ์ จำนวน 2 ชุด
2. สำเนารายงานการประชุมผู้ซึ่งประสงค์จะเป็นสมาชิกสหกรณ์จำนวน 2 ชุด
3. สำเนารายงานการประชุมคณะผู้จัดตั้งสหกรณ์ จำนวน 2 ชุด
4. สำเนารายงานการประชุมผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิกสหกรณ์ จำนวน 2 ชุด
5. บัญชีรายชื่อผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิกสหกรณ์ จำนวน 2 ชุด
6. แผนดำเนินงานเกี่ยวกับธุรกิจหรือกิจกรรมของสหกรณ์ จำนวน 2 ชุด
7. หนังสือยินยอมให้ใช้สภานที่เป็นที่ตั้งสำนักงานสหกรณ์ จำนวน 2 ชุด (กรณีสหกรณ์ไม่มีสำนักงานเป็นของสหกรณ์เอง)
8. ข้อบังคับสหกรณ์ จำนวน 4 ฉบับ
สหกรณ์จะเลิกด้วยเหตุอะไรบ้าง?
มาตรา 70 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ ศ 2545 กำหนดให้สหกรณ์เลิกด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้
1) มีเหตุตามที่กำหนดในข้อบังคับ
2) สหกรณ์มีจำนวนสมาชิกน้อยกว่าสิบคน
3) ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้เลิก
4) ล้มละลาย
5) นายทะเบียนสหกรณ์สั่งให้เลิก
ทั้งนี้ มาตรา 71 กำหนดอำนาจให้นายทะเบียนสหกรณ์สั่งเลิกสหกรณ์ได้เมื่อปรากฎว่า
1) สหกรณ์ไม่เริ่มดำเนินกิจการภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่จดทะเบียน หรือหยุดดำเนินกิจการติดต่อกันเป็นเวลาสองปี นับแต่วันที่หยุดดำเนินกิจการ
2)สหกรณ์ไม่ส่งสำเนางดุลและรายงานประจำปีต่อนายทะเบียสหกรณ์เป็นเวลาสามปีติดต่อกัน
3) สหกรณ์ไม่อาจดำเนินกิจการให้เป็นผลดี หรือการดำเนินกิจการของสหกรณ์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์หรือประโยชน์ส่วนรวม
การตรวจการสหกรณ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อนอะไร ?
การตรวจการสหกรณ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบ ป้องกันมิให้มีการกระทำ หรืองดเว้นการกระทำในลักษณะที่ไม่เป็นไปตามอุดมการณ์ หลักการสหกรณ์ ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และอำนาจกระทำการ ของสหกรณ์ซึ่งกำหนดไว้ในข้อบังคับของสหกรณ์ ฝ่าฝืนกฎหมาย ข้อบังคับหรือระเบียบของสหกรณ์ ระเบียบหรือคำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์ คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ไม่ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนที่ดีของสหกรณ์ กรณีตรวจพบว่าสหกรณ์ใดมีการกระทำหรืองดเว้นกระทำในลักษณะดังกล่าวข้างต้นนั้น ต้องรายงานเพื่อพิจารณาให้มีการสั่งการโดยเร็ว
การจัดระดับมาตรฐานสหกรณ์ คืออะไร มีประโยชน์ต่อสหกรณ์อย่างไร?
ที่มา
กรมส่งเสริมสหกรณ์เริ่มจัดระดับมาตรฐานสหกรณ์ขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2545 โดยเจตนารมณ์ในการจัดระดับมาตรฐานสหกรณ์ครั้งแรกเพื่อใช้วัดประสิทธิภาพในการทำงานของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ และเพื่อให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์มีเป้าหมายในการส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์ที่ชัดเจน และเป็นการประเมินผลการบริหารจัดการของสหกรณ์เบื้องต้น โดยไม่ได้มีเจตนาที่ใช้วัดความเป็นมาตรฐานของสหกรณ์ และต่อมาในปี พ.ศ. 2556 กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ใช้การจัดมาตรฐานเพื่อวัดประสิทธิภาพการส่งเสริมสหกรณ์ของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ และใช้วัดผลการดำเนินงานของสหกรณ์ควบคู่กัน
วัตถุประสงค์ของการจัดระดับมาตราฐานสหกรณ์
1. เพื่อประเมินศักยภาพในการดำเนินงานของสหกรณ์แต่ละแห่งว่ามีจุดอ่อนจุดแข็ง อย่างไร มีศักยภาพที่จะอำนวยบริการประโยชน์แก่สมาชิก ซึ่งเป็นเจ้าของสหกรณ์ได้ดี เพียงใด มีความสามารถในการบริหารจัดการมากน้อยเพียงใด
2. เพื่อจัดระดับสหกรณ์แต่ละประเภทตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
ประโยชน์ของการจัดระดับมาตราฐานสหกรณ์
1. สหกรณ์ได้ทราบถึงสถานะและผลการดำเนินงานของตนในภาพรวมเบื้องต้น เนื่องจากตัวชี้วัดระดับมาตรฐานสหกรณ์ เป็นเกณฑ์เบื้องต้นทั่วไปที่สหกรณ์สามารถดำเนินงานให้ผ่านได้ โดยยึดหลักการและวิธีการสหกรณ์ ซึ่งสอดคล้องอย่างยิ่งกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
2. สหกรณ์สามารถกำหนดแนวทางการดำเนินงาน หรือแนวทางการพัฒนาให้ผ่านมาตรฐานในแต่ละระดับได้ เช่น หากสหกรณ์ตกมาตรฐานข้อใด ก็ต้องวิเคราะห์หาสาเหตุและแก้ไขปรับปรุง ให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานข้อนั้น ๆ หากสหกรณ์ผ่านมาตรฐานในระดับดี ก็ควรพิจารณาหาแนวทางที่จะยกระดับการผ่านมาตรฐานสหกรณ์ให้เป็นระดับดีมากหรือดีเลิศ
3. สหกรณ์ได้รับสิทธิบางประการที่กรมส่งเสริมสหกรณ์กำหนด เช่น การพิจารณาขอกู้เงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ การพิจารณาคัดเลือกเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นต้น
การประเมินและจัดระดับมาตรฐานสหกรณ์ ทำอย่างไร?
การประเมินมาตรฐานสหกรณ์
การประเมินมาตรฐานสหกรณ์ เป็นการประเมินผลการดำเนินงานของสหกรณ์ (ร้อยละ 70 ) และกระบวนการจัดการภายในสหกรณ์ (ร้อยละ 30) โดยมีเกณฑ์ในการประเมิน 7 เกณฑ์ แต่ละเกณฑ์จะมีข้อย่อยในการประเมิน รวม 137 ข้อ ดังนี้
เกณฑ์ที่ 1 ผลการดำเนินงานในรอบสองปีบัญชีย้อนหลัง สหกรณ์มีผลการดำเนินงานไม่ขาดทุน เว้นแต่ปีใดมีอุทกภัยหรือภัยธรรมชาติจนเกิดความเสียหายต่อสมาชิกและสหกรณ์โดยรวม ให้ตัดปีนั้นออก (ประเมินผลการดำเนินงานในข้อ 1 - ข้อ 3 ประเมินกระบวนการจัดการในข้อ 4 - ข้อ 8)
เกณฑ์ที่ 2 ผลการดำเนินงานในรอบสองปีบัญชีย้อนหลังไม่มีการกระทำอันถือได้ว่าทุจริตต่อสหกรณ์ (ประเมินผลการดำเนินงานในข้อ 9 - ข้อ 10 ประเมินกระบวนการจัดการในข้อ 11 - ข้อ 86)
เกณฑ์ที่ 3 ผลการดำเนินงานในรอบปีบัญชีสุดท้าย สหกรณ์จัดทำงบการเงินแล้วเสร็จและส่งให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบแล้วนำเสนอเพื่ออนุมัติในที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวัน นับแต่วันสิ้นปีทางบัญชี (ประเมินผลการดำเนินงานในข้อ 87 - ข้อ 90 ประเมินกระบวนการจัดการในข้อ 91 - ข้อ 95)
เกณฑ์ที่ 4 ผลการดำเนินงานในรอบปีบัญชีสุดท้าย สหกรณ์ต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของสมาชิกทั้งหมด ร่วมทำธุรกิจกับสหกรณ์ (ประเมินผลการดำเนินงานในข้อ 96 - ข้อ 103 ประเมินกระบวนการจัดการในข้อ 104 - ข้อ 108)
เกณฑ์ที่ 5 ต้องจัดจ้างเจ้าหน้าที่สหกรณ์ปฏิบัติงานประจำรับผิดชอบดำเนินการและธุรกิจของสหกรณ์ หากไม่มีการจัดจ้างต้องมีบุคคลอื่น เช่น กรรมการ สมาชิกที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ประจำ (ประเมินผลการดำเนินงานในข้อ 109 - ข้อ 112 ประเมินกระบวนการจัดการในข้อ 113 - ข้อ 117)
เกณฑ์ที่ 6 ผลการดำเนินงานในรอบสอบปีบัญชีย้อนหลัง สหกรณ์ต้องมีการจัดสรรกำไรสุทธิ และจ่ายเงินทุนสวัสดิการสมาชิก หรือทุนสาธารณะประโยชน์อย่างน้อยหนึ่งครั้ง (ประเมินผลการดำเนินงานใน ข้อ 118 - ข้อ 124 ประเมินกระบวนการจัดการในข้อ 125 - ข้อ 131)
เกณฑ์ที่ 7 ผลการดำเนินงานในรอบปีบัญชีสุดท้าย สหกรณ์ต้องไม่กระทำการอันใดเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ระเบียบ คำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์ (ประเมินผลการดำเนินงานในข้อ 132 - ข้อ 133 ประเมินกระบวนการจัดการในข้อ 134 - ข้อ 137)
การกำหนดระดับมาตรฐานสหกรณ์
แบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ
1.ระดับมาตรฐานดีเลิศ (A) ผลการประเมินตั้งแต่ 96 คะแนน ขึ้นไป
2.ระดับมาตรฐานดีมาก (B) ผลการประเมินตั้งแต่ 86-95.99 คะแนน
3.ระดับมาตรฐานดี (C) ผลการประเมินตั้งแต่ 76-85.99 คะแนน
4.ระดับไม่ผ่านมาตรฐาน (F) ผลการประเมินต่ำกว่า 76 คะแนน
สำนักงานสหกรณ์จังหวัดพิจิตร
ศาลากลางจังหวัดพิจิตร ชั้น 2 เลขที่ 222 หมู่ที่ 1 ถนนพิจิตร - ตะพานหิน ตำบลท่าหลวง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000
โทรศัพท์ : 0 5661 1384 โทรสาร : 0 5661 3542 อีเมล์ :
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2566 สำนักงานสหกรณ์จังหวัดพิจิตร
Copyright © 2023 phichit Provincial cooperative office
ภาพประกอบโดยเว็บไซต์ freepik.com , pixabay.com , flation.com